เก็บตก พาแม่เที่ยววันแม่ (ทางรถไฟสายมรณะ)

วันแม่ พาแม่เที่ยว ทางรถไฟสายมรณะ
วันแม่ พาแม่เที่ยว ทางรถไฟสายมรณะ
เก็บตกพาแม่เที่ยววันแม่ ในปีนี้ (2011) ก็ยังคง ผูกติด ติดพันอยู่กับรางรถไฟอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากแม่ อยากที่จะนั่งรถไฟเที่ยวอีกแล้ว แม่อยากจะนั่งรถไฟข้ามแม่น้ำแคว ปลายทางที่ น้ำตกไทรโยคน้อย ในรายการเที่ยวไปกับการรถไฟ แบบเช้าไป-เย็นกลับ “เที่ยวรถไฟสายน้ำตกไทรโยคน้อย” เริ่มต้นออกเดินทางกันแต่เช้ามืดเพื่อไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟสามเสน ใครอยากร่วมเดินทางก็เตรียมตัวได้เลยครับ

เช้าวันนี้ต้องตื่นแต่เช้ามืด เวลาประมาณตีห้า เนื่องจากคุณแม่ ต้องการชวนเพื่อนคุณแม่ ร่วมเดินทางไปด้วยกันในวันนี้ด้วย (รวมกันเป็น 3 แม่ คือ 1 แม่ของตัวเอง และอีก 2 คือเพื่อนของแม่) จึงต้องตื่นกันเช้าสักหน่อย ส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมอาหารใส่กล่องไว้ เผื่อว่า จะได้มีอะไรกินกันบ้างบนรถไฟ กันหิว เนื่องจากทราบมาว่า การเดินทางระยะสั้นๆ แบบนี้ การรถไฟจะไม่มีตู้เสบียงพ่วงมาด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดหา พกติดตั้วขึ้นไปด้วย เพื่อประทังความหิวระหว่างการเดินทาง

เตรียมตัว และเตรียมตั๋วให้พร้อม
เตรียมตัว และเตรียมตั๋วให้พร้อม

ตามเวลาที่เราต้องเดินทางไปถึงสถานีนั้นคือเวลา 06.00 แต่เวลาหน้าตั๋วที่รถไฟขบวน “เที่ยวรถไฟสายน้ำตกไทรโยคน้อย” ระบุเวลาออกเดินทางที่ 06.30 คาดกันว่า คงจะมาสายอีกเหมือนเคย แต่เราก็ไม่กล้าที่จะเสี่ยงกับการตกรถ จึงต้องรีบออกเดินทาง แต่เนิ่นๆ ไปถึงสถานีก่อนเวลา ตามที่ได้วางแผนไว้อย่างลงตัว

ทำความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสงแล้ว
ทำความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสงแล้ว

ในระหว่างที่รถไฟขบวนที่เรารอยังมาไม่ถึง ก็เลยเป็นเวลาเดินชมสถานี ถ่ายภาพสถานีรถไฟไปเรื่อยๆ อย่างที่เห็น จนกระทั่ง รถไฟขบวนที่เรารอก็เข้าเทียบชานชลา ก่อนจะขึ้นรถไฟ ก็ตรวจสอบกันอีกครั้งหนึ่งว่า ป้ายข้างขบวน แปะไว้ชัดเจนว่า “เที่ยวรถไฟสายน้ำตก” จึงเป็นที่แน่นอนว่า ไม่ผิดขบวนแน่แล้ว เราจึงได้เดินขึ้นรถไฟไปอย่างมั่นใจ

ขึ้นไปถึง ก็มองหาที่นั่งกัน ปรากฏว่า ขลุกขลักนิดหน่อย เนื่องจาก ตู้ขบวนถูกเปลี่ยน ทำให้ หมายเลขที่นั่ง ในบัตรไม่ตรงกันกับ ตัวที่นั่งจริง ทำให้ ผู้โดยสารนั่งกันอย่างกระจัดกระจาย ผิดที่ผิดทางกันไปหมด ทำให้เราต้องนั่ง “ผิดที่ผิดทางไปด้วย” เวลาผ่านไปเสียนาน กว่าที่เจ้าหน้าที่ จะเดินทางมาตรวจสอบตั๋ว และจัดที่นั่งให้ถูกที่ถูกทางขึ้น ซึ่งก็ไม่ลงตัวสักเท่าไหร่ แต่ก็ยังดีกว่า ที่ทีมเรานั่งแยกกันไปคนละทิศคนละทาง อย่างในตอนแรก ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้แจ้งว่า จำนวนตู้ไม่พอเนื่องจาก ปัญหาเรื่องการจัดการขบวนรถไฟฟรี ทำให้ต้องใช้ตู้นี้มาแทน

เมื่อได้ที่นั่งลงตัวพอสมควร ก็ได้เวลาลงมือจก ฉก หยิบ หาอาหารขึ้นมารับประทานกันได้แล้ว ฉากเหล่านั้น ภาพขาดหายไปเนื่องจากตากล้องมือเลอะเต็มทีจากการฉกหยิบ จึงมิอาจเก็บภาพมาให้ชมกันได้

ถึงสถานีนครปฐมแล้ว คนเยอะมากๆ
ถึงสถานีนครปฐมแล้ว คนเยอะมากๆ

นั่งรถเที่ยวกันมาได้สักพัก ก็มาถึงสถานีแรกของทัวร์วันนี้ ที่อนุญาตให้เราลงไปเดินซื้อหาอาหาร หรือไหว้พระก็ตามแต่อัธยาศัยที่พระปฐมเจดีย์ มีเวลาให้ที่สถานีนี้ 40 นาที ก่อนที่จะได้เดินทางกันต่อ เดินลงไปได้ แต่เคลื่อนตัวกันได้ช้ามากๆ เนื่องจากจำนวนคนเดินทาง ค่อนข้างจะเยอะพอสมควร แม่ๆ ไม่อยากเดินไปที่พระปฐมเจดีย์กัน เพราะเวลาน้อย ขี้เกียจจะเดินไป ก็เลย วนๆ เวียนๆ มองหาของกินกันอยู่ในตลาด แถวๆ สถานี ส่วนตัวเอง เดินข้าม ถนน แล้วก็ข้ามถนน ใกล้เข้าไปยังพระปฐมเจดีย์อีกสักนิด ก่อนจะชักภาพ แล้วเดินกลับมายังรถไฟขบวนเดิม

เข้าใกล้พระปฐมเจดีย์มากที่สุดเท่านี้
เข้าใกล้พระปฐมเจดีย์มากที่สุดเท่านี้

ขบวนรถ ออกจากสถานีรถไฟพระปฐมเจดีย์ ก็วิ่งมาเรื่อยๆ มาจอดอีกครั้งที่ สถานีรถไฟ “สถานีกาญจนบุรี สะพานข้ามแม่น้ำแคว” ให้เราได้เดินเล่น เข้าห้องน้ำ หาซื้อของ ในเวลาจำกัด 25 นาทีตามผังเวลาที่ประกาศไว้ แต่เนื่องจากขบวนรถเรา ทำเวลาได้ดีมาก กว่าจะถึงสถานี ก็เลยเวลาไปเยอะ ก็เลยโดนตัดเวลาลงเหลือเพียง 15 นาที น่าเศร้า –”

สะพานข้ามแม่น้ำแคว
สะพานข้ามแม่น้ำแคว

จากเหตุผลในเรื่องของการโดนตัดเวลา ทำให้เราไปไหนไม่ได้ไกลนัก วนๆ เวียนๆ อยู่แถวๆ ต้นๆ ของสะพานนั่นแหละ แล้วก็แวะเวียนไปห้องน้ำเสียหน่อยให้เรียบร้อย ก่อนจะมาขึ้นรถไฟ เพราะนึกถึงห้องน้ำบนรถไฟแล้ว ก็ไม่ค่อยอยากจะลอง หากไม่จำเป็น หลังจากรอเวลารถไฟเคลื่อนขบวนสักประเดี๋ยว รถไฟก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวเพื่อไปยังจุดหมายต่อไป คือ ช่วงทางรถไฟ “โค้งมรณะ” หรือ ถ้ำกระแซ หากใครไม่ทราบ ก็มาอ่าน รายละเอียดคร่าวๆ กันสักเล็กน้อยแล้วกัน โดยเป็นข้อมูลจาก wiki pedia ครับ

อ่าน  เที่ยวงานวัดภูเขาทอง วัดสระเกศปี 2553 คนเยอะ แต่สนุก

“ทางรถไฟสายมรณะ สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นขอยืมเงินจากรัฐบาลไทย จำนวน 4 ล้านบาท การก่อสร้างใช้เวลาในการสร้างเสร็จเพียง 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2485 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2486 เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า หลังสงครามทางรถไฟบางส่วนถูกรื้อทิ้ง บางส่วนจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ ทางรถไฟสายนี้ถือเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงเหตุการณ์สงครามในครั้งนั้น เนื่องจากน้ำพักน้ำแรงของการบุกเบิกก่อสร้าง เป็นของทหารเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มา
เหตุที่ทางรถไฟสายนี้ได้ชื่อว่า ทางรถไฟสายมรณะ ก็เพราะว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายพันธมิตร ได้แก่ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดาและนิวซีแลนด์ ประมาณ 61,700 คนและกรรมกรชาวชาวจีน ญวน ชวา มลายู ไทย พม่า อินเดีย อีกจำนวนมากมาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่ประเทศพม่า เพื่อลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งกำลังพล เพื่อจะไปโจมตีพม่าและอินเดียต่อไป ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ เส้นทางช่วงหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่จึงต้องมีการสร้างสะพานขึ้น การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงครามและโรคภัยตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกจำนวนหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง ทางรถไฟสายนี้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2486 และเปิดใช้ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ปีเดียวกัน
หลังสิ้นสุดสงครามรัฐบาลไทยได้จ่ายเงินจำนวน 50 ล้านบาท เพื่อซื้อทางรถไฟสายนี้ [1]จากอังกฤษ และทำการซ่อมบำรุงบางส่วนของเส้นทางดังกล่าว เพื่อเปิดการเดินรถตั้งแต่สถานีหนองปลาดุกจนถึงสถานีน้ำตก โดยอยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
เส้นทางรถไฟสายนี้เป็นอนุสรณ์ของโลกที่จารึกความโหดร้ายทารุณของสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นอนุสรณ์แก่ผู้เสียชีวิตในสงครามด้วย”

ข้อมูลจาก : http://th.wikipedia.org/wiki/ทางรถไฟสายมรณะ

และหากต้องการอ่านเพิ่มเติม รายละเอียด ความหดหู่ในช่วงเวลานั้น ลองอ่านจาก link ด้านล่างนี้ครับ

http://allknowledges.tripod.com/deadrailway.html

ชีวิตริมทาง มองจากหน้าต่างรถไฟ
ชีวิตริมทาง มองจากหน้าต่างรถไฟ

หลังจากออกมาจากสถานี สะพานข้ามแม่น้ำแควแล้ว ก็มีโอกาสได้เปลี่ยนมานั่งริมหน้าต่างบ้าง เนื่องจากมีชาวต่างชาติ สาวๆสามท่าน ต้องการไปเที่ยวที่จุดอื่นโดยมีมัคคุเทศก์ส่วนตัวเป็นผู้นำทาง จึงมีโอกาสได้นั่งริมหน้าต่างบ้าง ทำให้มีโอกาสบันทึกภาพ ใบไม้ ใบหญ้า ริมข้างทางรถไฟได้ แต่การจะถ่าย “ชีวิตริมทาง” นี่สิ ไม่ค่อยจะได้ เนื่องจาก การเดินทางโดยรถไฟช้ากว่าเวลาตามกำหนดการไปมาก ทำให้ต้องเร่งทำเวลาพอสมควร การบันทึกภาพ “ชีวิตริมทาง” จึงได้ภาพที่ไม่ค่อยจะสมบูรณ์ ออกไปแนวขาดๆ เกินๆ เสียมาก

ไม่สูงมากแต่มองลงไปก็เสียวอยู่ดี
ไม่สูงมากแต่มองลงไปก็เสียวอยู่ดี

แล้วก็มาถึงสถานีรถไฟกระแซ รถไฟค่อยๆ เคลื่อนตัวผ่าน “โค้งมรณะ” ไปอย่างช้าๆ เปิดโอกาสให้คนในรถ เฮโล เทมาทางด้านแม่น้ำ กันเสียหมด เพื่อชมทิวทัศน์ที่สวยงาม และบันทึกภาพเก็บไว้ด้วยอุปกรณ์ การถ่ายภาพ สารพัดรูปแบบ ตามแต่จะพกกันมา นี่เป็นครั้งแรก ของแม่ และผม ที่นั่งรถไฟผ่านโค้งมรณะ แห่งนี้ ทั้งๆ ที่ได้ยินเรื่องของเส้นทางรถไฟสายนี้มานานมาก แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เดินทางผ่านเส้นทางนี้สักที จนกระทั่งวันนี้นี่แหละ

เส้นทางนี้ถ้ามองไปไกลๆ จะสวยมาก แต่พอมองลงไปด้านล่างตรงๆ กลับรู้สึกเสียวดีแท้ มองแผล็บเดียว ก็ต้องละสายตา มองไปไกลๆ แทน ไม่ได้กลัวความสูงอะไรนัก แต่ในเวลานี้ก็อดที่จะเสียวไม่ได้

จอดอยู่เสียนานที่สถานีนี้
จอดอยู่เสียนานที่สถานีนี้

บริเวณสถานีกระแซ รถไฟจอดอยู่นานพอสมควร ไม่รู้สาเหตุใดๆ สักพักหนึ่งพอรถเริ่มที่จะเคลื่อนตัวได้ก็พอจะได้รู้สาเหตุกันบ้าง ถึงเหตุติดๆ ขัดๆ ที่ว่า สาเหตุติดๆ ขัดๆ เพราะเจ้าหน้าที่ และพนักงาน กำลังทำการเปลี่ยนไม้หมอนรองรางรถไฟ จากไม้ ที่พุๆ พังๆ ไปเสียส่วนใหญ่ ให้มาเป็นหมอนรองรางปูนแทน ก็เหมือนกันกับอีกหลายๆ ที่ ซึ่งจริงๆ ก็เห็นด้วยอยู่เหมือนกัน เนื่องจากบริเวณนี้ ไปจนถึง “สถานีรถไฟน้ำตก” นั้น ชำรุดไม่น้อย สังเกตได้จาก แรงกระโดด แบบโยกขึ้น โยกลง โยกซ้าย โยกขวา ของตู้ขบวน ด้วยแรงโยก ขนาดนี้ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วตู้ขบวนจะหลุดออกจากกันไหมนี่ แต่ที่แน่ๆ มองไปตรงช่วงรอยต่อขบวน ไม่ปรากฏว่าจะมีใครกล้ายืน หรือนั่งเลยสักคน

ไม่ทันรถ กี่คันๆ ก็เต็มหมด ต้องรอ
ไม่ทันรถ กี่คันๆ ก็เต็มหมด ต้องรอ

แล้วก็ได้มาถึงสถานีน้ำตกจนได้ จากที่สถานีนี้ จะต้องต่อรถสองแถวไปยังน้ำตกไทรโยคน้อย แต่ด้วยความที่ทีมของเราอยู่ตู้แรกสุด ถัดจากหัวขบวน เหมือนระยะทางไปยังคิวรถ จะไกลกว่าเพื่อน กว่าจะไปถึง รถก็ออกไปหมดแล้ว ทำให้เราพบกับ “อาการตกรถ” ในทันที แต่ไหนๆ ก็ยังต้องรอรถ เลยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเสียเลย โดยการเดินเข้าร้าน เติมพลังอาหารกันก่อน ค่อยไปน้ำตกก็ได้ เมนูที่สั่งมาทานกันมื้อนี้ ก็ยังคงความเป็น “เมนูจก” อยู่เช่นเดิม กับ ส้มตำ ไก่ย่าง ลาบหมู น้ำตก อืม แค่นึกถึงก็น้ำลายไหลเสียอีกแล้ว

อ่าน  พ่อของผมเป็นช่างเชื่อม ด้วยเหมือนกัน
น้ำตกไทรโยคน้อย ถ้ายได้แผล็บเดียวฝนก็ตก
น้ำตกไทรโยคน้อย ถ้ายได้แผล็บเดียวฝนก็ตก

หลังจากกินเสร็จอิ่มท้อง รถสองแถวที่จะพาเราไปยังน้ำตกไทรโยคน้อย ก็มีวิ่งมารออยู่ที่ลานจอดรถแล้ว จากสถานีน้ำตก ไปยังน้ำตกไทรโยคน้อยนั้น ลุงคนขับรถสองแถว ที่พาเราเดินทางไปน้ำตกนั้น บอกว่า ด้านบนยังมีอยู่อีกสถานีนึงชื่อว่า “สถานีรถไฟน้ำตกไทรโยคน้อย” ก็เลยเกิดความสงสัยว่า แล้วทำไมรถไฟไม่ไปจอดที่สถานีนั้น ลุงก็บอกให้ได้เข้าใจว่า ทางมันจะขึ้นเขา ต้องเป็นดีเซลรางเท่านั้น ก็ยังเข้าขั้นงงอยู่ดี ลุงก็อธิบายต่อ ว่าเป็นตัวรถโดยสารที่มีเครื่องดีเซลขับด้วยตัวเอง จึงค่อยคลายความสงสัยไปได้ แต่หากใครยังสงสัยอยู่ล่ะก็ ที่นี่มีคำตอบครับ http://th.wikipedia.org/wiki/รถดีเซลราง

หลังจากได้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับรถดีเซลรางอยู่นาน ไม่รู้ว่างหาไปมาอย่างไร ก็ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับหัวรถจักรมาเยอะแยะมากมายทีเดียว ทำให้ได้รู้ว่า หัวขบวนที่ลากจูงตู้ขบวนจำนวนมากในวันที่เราเดินทางนั้น เป็นหัวรถจักรชนิดพิเศษ ที่พิเศษก็คือ เป็นหัวรถจักรที่ทำสีใหม่ และมีคุณสมบัติเป็นรถหุ้มเกราะ ไม่อยากเชื่อสายตาเข้าไปอีกเมื่อทราบถึงอายุของหัวรถจักรที่ลางจูงเราในวันนั้น ว่ามันจะมีอายุมากมายขนาดนี้ พี่ๆ น้องๆ ในชุดรหัสนี้นำมาใช้งาน ในปี 2507 – 2509 ผมเดาว่า อะไหล่เดิมๆ คงจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง และดัดแปลงไปแล้วกระมัง กับอายุขนาดนี้

ไม่เห็นแววว่าฝนจะตกแม้แต่น้อย
ไม่เห็นแววว่าฝนจะตกแม้แต่น้อย

ถึงน้ำตกไทรโยคน้อย บรรยากาศค่อนข้างอึมครึม ครึ้มๆ เหมือนฝนจะตก แต่ก็ไม่คิดอะไรมาก คาดว่าคงไม่ตก เพราะเมื่อสักครู่ แสงแดดยังร้อนแรง แผดเผาอยู่เลย เดินเล่น เที่ยวถ่ายภาพบริเวณน้ำตกได้ไม่สักเท่าไหร่ พระพิรุณ ก็อยากจะลงมาเที่ยวบ้าง ก็เลยทำให้เปียกปอนไปตามๆ กัน ต้องหลบไปพักอยู่ในศาลานั่งพัก เพื่อหลบฝน รอเวลาที่จะกลับไปที่สถานีรถไฟน้ำตก เนื่องจาก ฝนก็ตก กำหนดเวลานัดเดินทางกลับ ก็ใกล้เข้ามาแล้ว จำเป็นต้องถอยทัพกลับลำ ไปยังจุดที่เราลงรถสองแถวเมื่อสักครู่เพื่อเดินทางกลับไปยังสถานีด้วยความผิดหวัง ที่จะได้เก็บซับ บรรยากาศการเดินทางไว้อย่างเต็มที่

ประจำที่ เตรียมเดินทางกลับเข้ากรุง
ประจำที่ เตรียมเดินทางกลับเข้ากรุง

การโดยสารรถไฟเที่ยวกลับนั้น ระหว่างการเดินทางไปตามเส้นทางเดิม เดิมทีเราเป็นตู้แรกต่อจากหัวขบวน ก็เลยกลายมาเป็นตู้ท้ายสุดของขบวน ก็ปรากฏว่ามีกลิ่นเหม็นไหม้ และหมอกขาวๆ เหมือนฟุ้งมาจากตอนกลางๆ ของขบวนรถ มองไปทางเจ้าหน้าที่ ที่นั่งกันอยู่เก้าอี้คู่สุดท้ายของตู้ ก็เห็นนิ่งเฉยกันหมด มองไปสองข้างทาง ก็ไม่เห็นจะมีใครเผาอะไร วิ่งไปเป็นระยะทางไกลมาก สิบหรือยี่สิบนาที ไม่แน่ใจนัก ที่สุดขบวนรถไฟขบวนนี้ก็ได้หยุดสนิท พร้อมๆ กับได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่พูดคุยผ่านวิทยุสื่อสาร ว่ามีอุบัติเหตุ น้ำมัน(ไม่รู้เหมือนกันว่าน้ำมันประเภทไหน) หยดใส่ตัวเครื่องยนต์ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเครื่องอะไรมาอยู่กลางๆ ขบวน แต่ไม่ใช่หัวรถจักรแน่ๆ ทำให้เกิดกลิ่นและควันเหม็นไหม้ ไปทั้งขบวน ก็เลยจอดแก้ไขกันไปอีกสิบกว่านาทีได้ จึงได้เดินทางต่อ

อุปกรณ์ซ่อมรางรถไฟ
อุปกรณ์ซ่อมรางรถไฟ

แล้วรถไฟก็จอดสนิทอีกครั้ง บริเวณที่เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงทาง กำลังทำการแก้ไข เปลี่ยนไม้หมอนรองรางรถไฟใหม่ เป็นปูน ก็เลยมีโอกาสแชะๆๆ เก็บบันทึกภาพเจ้าหน้าที่ ที่ก็นั่งพักเหมือนกัน เพราะทำงานไม่ได้ รถไฟเล่นทับรางอยู่แบบนี้ จะให้งัดทั้งรางทั้งรถ ก็คงไม่ไหว ก็ลองดูสภาพความผุของไม้ แล้วลองนึกภาพดูครับว่า รถไฟกระโดดเวลาวิ่งมันจะขนาดไหนกัน

มองเห็นไดัชัดเจน ทางรถไฟไล่เลาะไปตามขอบเขา
มองเห็นไดัชัดเจน ทางรถไฟไล่เลาะไปตามขอบเขา

แล้วการที่เราเป็นตู้สุดท้ายของขบวน ก็กลายเป็นเรื่องดีไป เมื่อผ่านไปตรงบริเวณ “ทางโค้งมรณะ”อีกครั้ง ก็เลยเดินไปบริเวณท้ายสุดๆเพื่อเก็บภาพสักหน่อย ก็เลยได้ภาพทางรางรถไฟ แบบไม่มีตู้ขบวนกั้น ก็สวยไปอีกแบบ แต่ก็ยังคงความเสียวอยู่ไม่น้อยทีเดียว

วิ่งตามแบบไม่ลดละจริงๆ
วิ่งตามแบบไม่ลดละจริงๆ

ผ่านเส้นทางโค้งมรณะมาแล้ว รถไฟก็ยังคงวิ่งๆ หยุดๆ ติดๆ ขัดๆ มาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาผ่านสะพานข้ามแม่น้ำแควอีกรอบ รอบนี้ก็เลยลุกออกไปที่ท้ายสุดของขบวนเหมือนเดิม เพื่อจะรอถ่ายภาพจากด้านบนลงไป ก็ปรากฏว่า มีน้ำท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ไปยืนจับจองขวางทางเดินไว้เรียบร้อย จะนั่งลงถ่ายภาพ จะได้ไม่บังกัน ก็มีตากล้องอีกรายเข้าไปจับจองเรียบร้อย ก็เป็นอันว่า เหลือจุดเดียวคือยืนตรงประตูทางขึ้นและลง โหนถ่ายภาพเป็นลิงโหนราวแบบนั้นไป แต่ก็ต้องโหนแต่พองามไม่ชะโงกชะเงกออกนอกตัวรถมากนัก ไม่งั้นอาจจะได้เสียหัวให้กับโครงเสาสะพานไปเสียก่อนจะได้ภาพ แต่ก็ถ่ายภาพมาได้ล่ะน่า มีเด็กๆ วิ่งตามขบวนรถไฟอยู่สามสี่คน คนวิ่งเร็ว วิ่งอึด ก็วิ่งตามจนกระทั่งถึงอีกฝากนึงของสะพานเลยทีเดียว แรงอึดเยอะจริงๆ

ภาพสุดท้ายที่บันทึกได้ ก่อนเก็บกล้องเข้ากระเป๋า
ภาพสุดท้ายที่บันทึกได้ ก่อนเก็บกล้องเข้ากระเป๋า

ตามโปรแกรมการท่องเที่ยวแล้วนั้น วันนี้จะต้องมีแวะให้ไปเที่ยว สุสานพันธมิตร ด้วย ในเวลาตามกำหนดการณ์ คือ ประมาณ 16.00 และให้เวลาเที่ยวชมอีก 40 นาที แต่เนื่องด้วย รถไฟทำเวลาได้ดีมาก แสงของวันจวนเจียนจะหมดไปแล้ว รถไฟขบวนของเรา ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะถึงสถานีกาญจนบุรีเลย เค้าเลยสรุปให้เราเสร็จสรรพ ว่า ไม่แวะ เพราะถึงจะแวะ ก็มืดไปแล้ว มองอะไรไม่เห็น แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ถึงจะแวะก็เข้าไม่ได้ เพราะสุสานเค้าปิดประตูงดเข้าชมไปแล้วล่ะ ก็เลยต้องวิ่งยาวถึงกรุงเทพเลย เมื่อแสงหมด ก็ไม่มีอะไรให้ถ่ายแล้ว มองออกไปข้างนอกตัวรถไฟ ช่างเงียบเหงา วังเวงดีจริงๆ มีแสงจากบ้านของผู้พักอาศัย สองข้างทางอยู่บ้างเป็นช่วงๆ แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้เห็น “ภาพชีวิต”
ได้ ก็เลยเก็บกล้องเข้ากระเป๋า แล้วนั่งรอเวลา เมื่อไหร่จะถึงๆ ทั้งแม่ เพื่อนแม่ และน้องๆ ต่างก็รอเวลา เมื่อไหร่จะถึงๆ เหมือนๆ กันหมด ถ้วนหน้า จะหลับก็ไม่ไหว วิ่งเร็ว และโยกแรงพอสมควร ยังดีที่ตอนรถหยุดจอดแวะพักที่สถานีรถไฟกาญจนบุรี ได้ลงไปกักตุนเสบียงอาหารขึ้นมาไว้บ้างแล้ว (ด้วยความเร่งรีบ เนื่องจากให้เวลาเพียงแค่ 20 นาที แค่ต่อคิวเข้าห้องน้ำก็เกือบจะหมดเวลาแล้ว) ทำให้ทุกคนได้อิ่มประทังหิวกันได้พอสมควร กว่าจะกลับถึงกรุงเทพ ในวันนั้น ปาเข้าไปเสียสามทุ่มกว่าๆ ทั้งๆ ที่ตามหมายกำหนดการจะถึงแค่ทุ่มครึ่ง เอง เที่ยวกับการรถไฟ ก็ต้องใจเย็นๆ กันสักนิดครับ บันทึกภาพ บันทึกความสุขไว้ ที่ไม่สุข ก็อย่าบันทึกไว้มากดีกว่า

อ่าน  ตลาดนัดสวนหลวง ร.9 ในวันสาร์ทจีน

ภาพเล่าเรื่อง

ศิลปะแถวบ้าน ศิลปะที่มาพร้อมกับความเสียใจ

แถวๆบ้าน มีศิลปะแขนงหนึ่ง ที่ไม่รู้ว่า มาเมื่อไหร่ และมาได้อย่างไร เป็นศิลปะที่พบเห็นตามป้ายรถเมล์ สะพานลอย เสาไฟฟ้า และตู้โทรศัพท์ ศิลปะแขนงนี้ ...

ทำอาหารไปเลี้ยง งานบุญ งานวัด

ทำอาหารไปเลี้ยง งานบุญ งานวัด

งานเลี้ยงอาหาร รอบนี้ แม่ได้รับการติดต่อมา ขอให้ร่วมทำอาหารไปเลี้ยงกลุ่มคริสตชน คนที่มาในงานฉลองที่วัด รอบนี้ทำอาหารที่ชื่อว่า ก๋วยเตี๋ยวหลอด ซึ่งเคยทำไปแล้วในครั้งก่อนๆ ที่ร่วมทำอาหารมาเลี้ยงแบบนี้ การเลี้ยงอาหารในงานฉลองต่างๆที่วัดของคริสตชนแบบนี้ ...

บันทึกเที่ยว บันทึกภาพ
เที่ยวหัวหิน แวะเพลินวาน

เที่ยวหัวหิน แวะเพลินวาน

เพลินวานหัวหิน ของผมในการไปครั้งนี้ ไม่มีอะไรให้น่าติดตามมากนัก เป็นเพียงการผ่านไป แถมยังต้องผ่านเลยเสียอีก อันเนื่องจากวันที่เดินทางไปถึงเพลินวานนั้น เป็นช่วงเวลาที่เพลินวาน ยังไม่เปิดทำการ รอเวลาผ่านไป ผ่านไป ...

ศาลเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร

ศาลเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ลงไปถึงชุมพร แล้วจะไม่แวะได้อย่างไรกันครับ ก่อนจะได้ชมภาพสถานที่ ก็มารู้จักกับสถานที่กันก่อนดีกว่าครับ ตามข้อมูลที่ได้มาจากความช่วยเหลือของพี่ Google คนเดิม ก็ได้ข้อมูลมาดังนี้ “ศาลเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตั้งอยู่ที่หมู่ ...